หมวดอื่น ๆ

เปิดประวัติ 'นางนพมาศ' กับตำนานหญิงงามแห่งประเพณีวันลอยกระทง!

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เหล่าทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง… บทเพลงคุ้นหูที่ชาวไทยต่างร้องเล่นกันมาอย่างช้านาน ในประเพณีสำคัญสุดยิ่งใหญ่อย่าง ‘ประเพณีวันลอยกระทง’ ที่หลายๆ ท่าน นำกระทงใบน้อยร่องลอยออกไป เพื่อขอขมาพระแม่คงคาและลอยทุกข์ลอยโศกเพื่อการเริ่มต้นใหม่ นอกเหนือจากกิจกรรมการลอยกระทงหรือมหรสพที่ถูกจัดขึ้นแล้ว ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของประเพณีวันลอยกระทงที่ขาดไม่ได้ และถือเป็นสิ่งสำคัญนั่นก็คือ ‘นางนพมาศ’ ซึ่งหลายๆ พื้นที่หรือหลายๆ งานได้จัดการประกวดเพื่อเฟ้นหากันเลยทีเดียว แต่… เธอเป็นใคร? ทำไมถึงต้องจัดประกวดหาสาวงามที่สวยที่สุดในค่ำคืนเดือนเพ็ญ BEAUT ชวนทุกท่านมาหาคำตอบกันในบทความนี้กันเลยค่ะ

ประวัติ ‘นางนพมาศ’ หญิงงามที่สุดในค่ำคืนวันลอยกระทง

‘นางนพมาศ’ ตามหลักฐาน และพงศาวดารทางประวัติศาสตร์ เป็นชื่อของสตรีนางหนึ่งที่ปรากฎในหนังสือซึ่งมีชื่อเรียกด้วยกันถึง 3 ชื่อ คือ ‘เรื่องนางนพมาศ’ หรือ ‘เรวดี นพมาศ’ และ ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่แต่งโดยพระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 3) ซึ่งเนื้อความในหนังสือได้มีการระบุว่า นางนพมาศ เกิดในยุครัชกาลของพระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1805 - พ.ศ. 1842) เป็นบุตรธิดาของพราหมณ์ในราชสำนัก โดยรับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี ทำให้นางนพมาศมีอีกชื่อที่เป็นการตั้งตามชื่อของมารดาตนเองว่านางเรวดีนพมาศ

ความที่มีบิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในวังหลวง จึงได้รับการดูแล และสอนสั่งจากบิดาทั้งในเรื่องของอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี รวมถึงรูปลักษณ์ของนางนพมาศเองที่มีความงดงามทั้งรูปร่าง และหน้าตา ด้วยความเพรียบพร้อมนี้จึงได้เข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท ด้วยความฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตน รูปลักษณ์ และความสามารถอันเพรียบพร้อมไปทุกกระเบียดนิ้วนี้เอง ในเวลาต่อมาบิดาของนางก็ได้ถวายตัวนพมาศให้แก่พระร่วงเจ้าและถูกแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั่นเอง

‘นางนพมาศ’ ไม่ได้มีดีเพียงแค่ความงาม

จากความสามารถอันเพรียบพร้อมไปทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งในด้านของการเขียนที่ได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัน จนได้สมญาว่า "กวีหญิงคนแรกของไทย" ดังเช่นที่มีข้อความเขียนไว้ว่า…

“ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูป และแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน"

รวมถึงการประดิษฐ์ที่เข้าขั้นอัจฉริยะภาพ นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์จึงกลายเป็นที่โปรดปรานทั้งในพระทัยของพระร่วงเจ้า และข้าราชบริพานที่ได้ร่วมงานหรือเข้าเฝ้าด้วย ตามเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดาร ดังนี้

  • ภายหลังที่นางนพมาศได้เข้าวังได้เพียง 5 วันเท่านั้น เมื่อถึงวันพระราชพิธีจองเปรียญลอยพระประทีป นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน ซึ่งมีนกเกาะดอกไม้สีสวยงามต่างๆ กัน และนำไปถวายแก่พระร่วงเจ้า จึงทำให้พระองค์พอพระทัยและเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก
  • ในเดือนที่ห้าของปี มีพิธีคเชนทร์ศวสนานหรือพิธีชุมนมข้าราชการทั่วทุกหัวเมือง ทางพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงต้อนรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู ซึ่งนางนพมาศก็ได้คิดประดิษฐ์หมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้ที่มีความงดงามอย่างมาก ด้านข้าราชบริพารที่ชื่อชอบ และพระร่วงเจ้าซึ่งโปรดปรานอย่างมากได้รับสั่งว่า หากผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น เป็นแบบอย่างในการทำงานมงคล ด้วยเหตุนี้งจึงเกิดเป็นพานขันหมากเวลาแต่งงานที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
  • เมื่อครั้งที่พระร่วงเจ้าจะทำการบูชาพระรัตนตรัย นางนพมาศก็ได้คิดประดิษฐ์พนมดอกไม้ที่มีความวิจิตร และอ่อนช้อยงดงามถวายพระร่วงเจ้าเพื่อสักการะพระรัตนตรัย จึงทำให้ท่านทรงพอพระทัยและโปรดปราน ตรัสสั่งว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้

ในอดีตประเพณีลอยกระทงที่คนไทยเรียกกันในปัจจุบันแท้จริงแล้วมีชื่อว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" ซึ่งจะเป็นการปล่อยโคมไฟเพื่อบูชาเทพเจ้าต่างๆ ตามความเชื่อของคนสุโขทัยในยุคนั้นๆ ต่อมาจากการที่นางนพมาศที่ในปัจจุบันได้ตำแหน่งเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเคยได้ประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบานถวายพระร่วงเจ้าในคราก่อน ทำการต่อยอดคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหลักฐานพงศาวดารที่ว่า… 

"ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..."

เมื่อพระร่วงเจ้าเสด็จมาทางชลมารค และได้ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย และโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดั่งพระราชดำรัสที่ว่า

"ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน"

พิธีลอยกระทงจึงได้เปลี่ยนรูปแบบนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

การประกวดหานางนพมาศในประเพณีลอยกระทงในปัจจุบัน

และในการประกวดหาสาวงามในค่ำคืนประเพณีลอยกระทงในปัจจุบันที่เป็นที่นิยมนั้น เสมือนกับเป็นการระลึกถึงความงามของนางนพมาศที่ถูกกล่าวขานกันมาแต่เนิ่นนาน รวมถึงยังช่วยสืบสานการอนุรักษณ์ประเพณีไทย ทั้งในเรื่องของการแต่งกายในแบบไทยโบราณอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของสาวงามนางหนึ่งที่คนไทยต่างคุ้นเคย และรู้จักเป็นอย่างดีค่ะ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ประเพณี ถึงตำนานการกล่าวถึงเรื่องของความสวย และความสามารถของเธอ ที่ส่งผลมาถึงพฤติกรรมประเพณีของคนไทยในปัจจุบัน... ใกล้ถึงวันลอยกระทงประเพณีสำคัญของไทยเราแบบนี้ อย่าลืม! โหลดแอป BEUAT เลือกช้อปความสวยให้หน้าใสก่อนไปลอยกระทงในค่ำคืนนี้กันนะค้า~

อ่านบทความความงามจากูรูตัวจริงและไม่พลาดทุกความสวย โหลด BEAUT ได้แล้วที่ 

ระบบ IOS : https://apple.co/3dCcGgr 

ระบบ ANDROID : https://bit.ly/3LASLe9

โปรโมชั่นแนะนำ

ดาวน์โหลด BEAUT

สวยชัวร์ ต้องตัวจริง (ไม่จกตา)

บทความอื่น ๆ